บทบาทของดิน
- ดินเป็นวัสดุที่ดูดซับธาตุอาหารพืช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแร่ดินเหนียวเพราะว่าจะมีอินทรียวัตถุที่ดูดซับธาตุอาหารไว้
- ในดินต้องมีจุลินทรีย์ที่เป็นตัวเปลี่ยนธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดไปใช้ได้ จุลินทรีย์จะกินธาตุอาหารก่อน และก็ตายแล้วจึงปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับรากได้ เพราะว่ารากนั้นไม่สามารถแย่งกินธาตุอาหารกับจุลินทรีย์ได้
- ในดินจะรวมถึงการเป็นแหล่งน้ำ
- ดินเป็นแหล่งของออกซิเจน (O)
- ในดินเป็นโครงสร้างที่ให้รากพืชนั้นลงลึกและแผ่ขยายรากได้ เวลาพายุมาจะช่วยยึดรากพืชให้ต้านลมได้
ธาตุอาหารที่ใส่ในดินมีประจุทั้งหมด บางตัวอยู่ในรูปประจุบวก บางตัวอยู่ในรูปประจุลบ
ดินจะมีประจุลบ ดินก็จะสามารถดูดธาตุอาหารที่เป็นไอออนบวกเอาไว้ให้ผิวของอนุภาคดินหรือพวกแร่ดินเหนียวได้ อีกทั้งดินเกิดจากหินที่ผุพังด้วย ในขบวนการสร้างดินมันมีประจุ ซึ่งระหว่างการสร้างแร่ดินเหนียวนั้น ธาตุ (Mg+2) ที่มีประจุบวกต่ำกว่า แล้วจะแทรกเข้าโครงสร้างแทนธาตุอลูมิเนียม (Al+3) ทำให้จำนวนประจุบวกลดลง และทำให้แร่ดินเหนียวมีประจุลบที่ไม่สะเทินเกินอยู่ ทำให้แสดงศักย์ไฟฟ้าลบสุทธที่ผิวดิน ประจุลบที่เกินอยู่ก็จะดูดไอออนบวกให้มาสะเทินกับแร่ดินเหนียว จึงมีคุณสมบัติการดูดไอออนบวกไว้ที่ผิวดินและก็จะมีไอออนบวกส่วนเกินซึ่งจะอยู่ในส่วนของสารละลายดิน(น้ำในดิน) แล้วก็อาจจะไหลตามน้ำไป จริงๆแล้วเราต้องการเก็บธาตุอาหารอยู่กับดินให้ได้นานที่สุด
การดูดซับไอออนบวกของดินจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อ
- มีปริมาณแร่ดินเหนียวเพิ่มขึ้น
- มีปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น
- มีระดับ ph สูงขึ้น(ดินไม่เป็นกรด)
การเกิดประจุลบส่วนเกินของดินมี 2 ประเภท
- เป็นประจุลบประเภทถาวร จะเกิดมาตั้งแต่กระบวนการสร้างดิน(โดยธรรมชาติ) มีค่าคงที่ขึ้นกับแร่ดินเหนียวหรือเนื้อดิน เกิดจากการที่ Mg+2 เข้าแทนที่ Al+3 ในขั้นตอนการสร้างแร่ดินเหนียว
- เป็นประจุลบที่มีค่าการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับระดับ ph ของดิน เมื่อดินเป็นกรดมากๆ จะนำ H+ มาสะเทินประจุลบที่อยู่บริเวณผิวดินทั้งหมด ก็จะทำให้ดินสามารถดูดซับไอออนที่เป็นประจุบวกตัวอื่นได้น้อยลง (ประเภทนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเราเปลี่ยนค่า ph)
การดูดซับไอออนบวกของแร่ดินเหนียว
แร่ดินเหนียวมีลักษณะเป็นแผ่น แต่ละแผ่นเหมือนมีประจุลบเกินอยู่ที่ผิว ดังนั้นประจุลบจะถูกสะเทินด้วยไอออนบวก ดินเนื้อละเอียดจะสามารถดูดซับไอออนบวกได้มากกว่าดินเนื้อหยาบเพราะดินเนื้อละเอียดมีพื้นที่ในการดูดซับไอออนบวกที่เป็นธาตุอาหารได้มาก

การดูดซับไอออนของอินทรียวัตถุ
ผิวของฮิวมัสจะมีทั้งประจุบวกและประจุลบ ทำให้ฮิวมัสสามารถดูดธาตุอาหารได้ทั้งประจุบวกและประจุลบ การปรับ ph ของดินให้เหมาะสมก็จะทำให้อินทรียวัตถุหรือฮิวมัสดูดซับไอออนบวกได้มากขึ้น
ดินที่มีอินทรียวัตถุหรือฮิวมัสมากก็จะสามารถดูดซับธาตุอาหารที่มีไอออนบวกได้ดีกว่าดินที่มีฮิวมัสน้อย
ดินเขตร้อนชื้นที่มีฝนตกชุกมานานเป็นดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำ
- มีปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำ เพราะถูกน้ำชะล้างไปหมด
- มีความเป็นกรดสูง
- ดินมีการดูดซับไอออนบวกได้น้อย เพราะแร่ดินเหนียวและอินทรียวัตถุหายไปหมดกับการชะล้างของฝนที่ตกลงมา
จำเป็นต้องใช้ค่าวิเคราะห์ดินไหม
- ในเบื้องต้นควรที่จะวัดค่า ph ในดิน เพราะธาตุอาหารจะสมดุลหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับค่า ph และใช้ประเมินปริมาณการใส่ปูนหรือโดโลไมท์เพื่อเพิ่มระดับ ph
- ค่าวิเคราะห์ดินจะสะท้อนปริมาณธาตุที่มีอยู่ในดิน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงการปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาทันต่อความต้องการของพืช
- ค่าวิเคราะห์ดินจะไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นอัตราปุ๋ย กก./ไร่ ได้
แนวทางในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เพื่อเพิ่มกำลังการดูดซับธาตุอาหารพืชได้มากขึ้น
- ใส่ปูนหรือโดโลไมท์เพื่อปรับเพิ่ม ph ของดินในขณะที่ดินเป็นกรด
การใช้ประโยชน์อินทรียวัตถุตามระยะเวลาการย่อยสลาย

- ระยะเวลาที่1 ซากพืชที่ยังเห็นเป็นรูปร่างเดิม (ยังย่อยสลายไม่มาก) ใช้เป็นวัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นและลดความร้อนของแสงแดดที่สาดลงมาผิวดิน
- ระยะเวลาที่2 ระหว่างที่เกิดการย่อยสลาย ก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารพืชออกมาเรื่อยๆ เรียกระยะนี้ว่า “ปุ๋ยอินทรีย์”
- ระยะเวลาที่3 พอย่อยสลายไปเรื่อยๆจนหมดสภาพของรูปร่างเดิมแล้วและธาตุอาหารถูกปลดปล่อยไปหมดแล้ว อินทรียวัตถุในดินนี้เรียกว่า “ฮิวมัส” เพราะฮิวมัสจะไม่มีธาตุอาหารเหลืออยู่และไม่ได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ แต่ฮิวมัสมีความจุในการดูดซับไอออนบวกและไอออนลบสูง ใช้ช่วยเพิ่มกำลังการดูดซับธาตุอาหารพืชให้แก่ดินได้ดี
อ้างอิง
- การประยุกต์เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน
และเพิ่มผลผลิต/คุณภาพมังคุดในเขตพื้นที่ภาคใต้ ปีงบประมาณ 2561 โดย ศ.ดร. สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์
นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน